ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ประวัติวันสงกรานต์ และ การกำเนิดวันสงกรานต์

 

ประวัติวันสงกรานต์ และ การกำเนิดวันสงกรานต์




สงกรานต์ คือ ประเพณีของประเทศไทย ลาว กัมพูชา พม่า ชนกลุ่มน้อยชาวไตแถบเวียดนาม และมนฑลยูนานของจีน รวมถึงศรีลังกา และประเทศทางตะวันออกของประเทศอินเดีย สันนิษฐานกันว่า ประเพณีสงกรานต์นั้นได้รับวัฒนธรรมมาจากเทศกาลโฮลีในอินเดีย แต่เทศกาลโฮลีจะใช้การสาดสีแทน โดยจะจัดให้มีขึ้นในทุกวันแรม 1 ค่ำ เดือน 4 ซึ่งก็คือเดือนมีนาคม

สงกรานต์ เป็นคำในภาษา สันสกฤต ที่หมายถึง การเคลื่อนย้าย โดยเป็นการอุปมาถึงการเคลื่อนย้ายการประทับในจักรราศี หรือการเคลื่อนเข้าสู่ปีใหม่ตามความเชื่อของไทยและบางประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเพณีสงกรานต์นั้นมีสืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณคู่กับตรุษ จึงมักเรียกรวมกันว่า ประเพณีตรุษสงกรานต์ หมายถึง การส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เดิมทีวันที่จัดสงกรานต์นี้นั้นจะมีการคำนวณทางดาราศาสตร์ แต่ในปัจจุบันได้มีการกำหนดวันที่แน่นอน คือ ตั้งแต่ 13 – 15 เมษายน แต่เดิม วันขึ้นปีใหม่ไทย คือ วันเริ่มปีปฏิทินของไทยจนถึง พ.ศ. 2431 และได้มีการเปลี่ยนแปลงมาเป็นวันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่จนถึง พ.ศ. 2483

ประวัติวันสงกรานต์

เมื่อครั้งก่อน พิธีสงกรานต์ เป็นพิธีกรรมที่เกิดขึ้นภายในครอบครัว หรือชุมชนบ้านใกล้เรือนเคียง แต่ในปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงให้พิธีสงกรานต์นั้นเป็นเทศกาลสงกรานต์ โดยได้ขยายออกไปสู่คมเป็นวงกว้างมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนทัศคติ ตลอดจนความเชื่อไป แต่เดิมในพิธีสงกรานต์จะใช้ น้ำ เป็นสัญลักษณ์ที่เป็นองค์ประกอบหลักของพิธี แก้กันกับความหมายของฤดูร้อน ช่วงเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษ ในวันนี้จะใช้น้ำรดให้แก่กันเพื่อความชุ่มชื่น มีการขอพรจากผู้ใหญ่ มีการรำลึกและกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับ ต่อมาในสังคมไทยสมัยใหม่เกิดเป็นประเพณีกลับบ้านในช่วงเทศกาลสงกรานต์ นับว่าวันสงกรานต์เป็นวันครอบครัว อีกทั้งยังมีประเพณีที่สืบทอดมาตั้งแต่ดั้งเดิม อย่าง การสรงน้ำพระที่นำมาซึ่งความเป็นสิริมงคล เพื่อให้เป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่มีความสุข

ปัจจุบันได้มีการประชาสัมพันธ์ในเชิงท่องเที่ยวว่าเป็น Water Festival หรือ เทศกาลแห่งน้ำ โดยได้ตัดข้อมูลในส่วนที่เป็นความเชื่อดั้งเดิมออกไป

ตำนานการกำเนิดวันสงกรานต์

 


          ตำนานการเกิดสงกรานต์  กล่าว ไว้ว่า  ก่อนพุทธกาลมีเศรษฐีครอบครัวหนึ่ง  อายุเลยวัยกลางคนก็ยังไร้ทายาทสืบสกุล  ซึ่งทำให้ท่านเศรษฐีทุกข์ใจเป็นอันมาก  ข้างรั้วบ้านเศรษฐีมีครอบครัวหนึ่ง  หัวหน้าครอบครัวเป็นนักเลงสุรา  ถ้าวันไหนร่ำสุราสุดขีด  ก็จะพูดเสียงดังแสดงวาจาเยาะเย้ยเศรษฐีสบประมาทในความมีทรัพย์มาก  แต่ไร้ทายาทสืบสมบัติเสมอ  วันหนึ่งเศรษฐี จึงถามว่ามีความขุ่นเคืองอะไรจึงแสดงอาการเยาะเย้ยและสบประมาท  เฒ่านักดื่มจึงตอบ  ถึงท่านมั่งมีสมบัติมากก็จริง  แต่เป็นคนมีบาปกรรมท่านจึงไม่มีบุตร  ตายไปแล้วสมบัติก็ตกเป็นของผู้อื่นหมด  สู้เราไม่ได้ถึงแม้จะยากจนแต่ก็มีบุตรคอยดูแลรักษายามเจ็บไข้  และรักษาทรัพย์สมบัติเมื่อเราสิ้นใจ  นับ แต่นั้นมา  เศรษฐียิ่งมีความเสียใจ  จึงพยายามไปบวงสรวงพระอาทิตย์และพระจันทร์  เพียรพยายามตั้งจิตอธิษฐานขอบุตร  ทำเช่นนี้เป็นเวลาติดต่อกันถึงสามปี  ก็ไม่ได้บุตรดังที่ตนปรารถนาจนวันหนึ่งเป็นวันนักขัตฤกษ์สงกรานต์  ท่านเศรษฐีก็พาข้าทาสบริวารของตนมาที่โคนต้นไทรใหญ่ต้นหนึ่ง  ที่อยู่บนฝั่งแม่น้ำที่อาศัยของนกทั้งหลา ย ท่านเศรษฐีให้บริวารล้างข้าวสารด้วยน้ำสะอาดถึง  7  ครั้ง  แล้วจึงหุงข้าวสารนั้น  เมื่อสุกแล้วยกขึ้นบูชาพระไทร  เทพเหล่านั้นเกิดความสงสาร  จึงขึ้นไปเฝ้าพระอินทร์  ทูลขอบุตรแก่เศรษฐี  พระอินทร์จึงบัญชาให้เทพบุตรองค์หนึ่งชื่อ  "ธรรมบาล" ลงมาเกิดในครรภ์ของภรรยาเศรษฐี  เมื่อครบกำหนดภรรยาเศรษฐีก็คลอดบุตรเป็นชาย  เศรษฐีจึงตั้งชื่อว่า  ธรรมบาลกุมาร เพื่อตอบสนองพระคุณเทพเทวา  เศรษฐีจึงสร้างปราสาทสูง  7  ชั้น  ถวายเทพต้นไทร
          เมื่อธรรมบาลกุมารเจริญวัยขึ้น  เป็นเด็กที่มีปัญญาเฉียบแหลม  รอบรู้  และวัยเพียง  7  ขวบก็เรียนจบไตรเพท  ยังมีเทพองค์หนึ่งชื่อ  "ท้าวกบิลพรหม" ได้ยินกิตติศัพท์ทางสติปัญญาอันยอดเยี่ยมของเด็กน้อย  จึงคิดทดลองภูมิปัญญาโดยการเอาชีวิตเป็นเดิมพันจึงถามปัญหา  3  ข้อ  ถ้ากุมารน้อยแก้ปัญหาทั้ง  3  ข้อได้  กบิลพรหมจะตัดศีรษะของตนบูชา  ถ้าธรรมบาลแก้ไม่ได้  ก็จะต้องเสียหัวเพื่อยอมรับความพ่ายแพ้  ปัญหานั้นมีว่า

          1. ตอนเช้าราศีคนอยู่แห่งใด
          2. ตอนเที่ยงราศีของคนอยู่แห่งใด
          3. ตอนค่ำราศีของคนอยู่แห่งใด
         
     เมื่อได้ฟังปัญหาแล้ว  ธรรมบาลไม่อาจทราบคำตอบในทันทีได้  จึงผลัดวันตอบปัญหาไปอีก  7  วัน  ครั้นเวลาล่วงจากนั้นไป  6  วัน ธรรมบาลกุมารก็ยังคิดหาคำตอบปัญหานั้นไม่ได้  จึงหลบออกจากปราสาทหนีเข้าป่า  และไปนอนพักเอาแรงใต้ต้นตาล  ขณะนั้นบนต้นตาลมีนกอินทรีคู่หนึ่งอาศัยอยู่  นางนกถามสามีว่า  "พรุ่งนี้เราจะไปหาอาหารที่ไหน"  นกสามีก็ตอบว่า  "พรุ่งนี้เราไม่ต้องบินไปไกล  เพราะจะได้กินเนื้อธรรมบาลกุมาร  ซึ่งจะถูกท้าวกบิลพรหมตัดหัว  เนื่องจากแก้ปัญหาไม่ได้  นางนกถามว่า "ปัญหานั้นว่าอย่างไร"  นกสามีตอบว่า ปัญหามีอยู่  3  ข้อ  และหมายถึง

          ข้อหนึ่ง ตอนเช้าราศีของมนุษย์อยู่ที่หน้า คนจึงต้องล้างหน้าทุกๆ เช้า
          ข้อสอง ตอนเที่ยงราศีคนอยู่ที่อก มนุษย์จึงต้องเอาเครื่องหอมประพรมที่อก
          ข้อสาม ตอนค่ำราศีคนอยู่ที่เท้า มนุษย์จึงต้องล้างเท้าก่อนเข้านอน

    ธรรมบาลกุมารได้ยินการไขปัญหาของนกอินทรีและจำจนขึ้นใจทั้งนี้เพราะธรรมบาลรู้ภาษานก  จึงกลับสู่ปราสาทอันเป็นที่อยู่แห่งตนรุ่งขึ้นเป็นวันครบกำหนดแก้ปัญหาท้าวกบิลพรหมมาฟังคำตอบ  ธรรมบาล   กุมารกล่าวแก้ปัญหาตามที่นกอินทรีคุยกันทุกประการ ท้าวกบิลพรหมจึงเรียกธิดาทั้ง  7  ของตน อันเป็นบริจาริกาคือหญิงรับใช้ของพระอินทร์มาพร้อมกันแล้วบอกว่าตนจะตัดเศียรบูชาธรรมบาลกุมาร แต่ถ้าเอาศีรษะพ่อวางไว้บนแผ่นดินก็จะลุกไหม้ไปทั้งโลก  ถ้าจะโยนขึ้นไปบนอากาศ  อากาศจะแห้งแล้งฟ้าฝนจะหายไปสิ้น  ถ้าทิ้งลงไปในมหาสมุทรน้ำในมหาสมุทรจะแห้งแล้งไปเช่นกัน  จึงสั่งให้นางทั้ง  7  คน  เอาพานมารองรับศีรษะแล้วจึงตัดศีรษะส่งให้นางทุงษธิดาคนโต นางทุงษจึงเอาพานรับเศียรบิดาไว้แล้วแห่ประทักษิณรอบเขาพระสุเมรุ  60  นาที  แล้วอัญเชิญไปไว้ในมณฑปถ้ำคันธุรลี เขาไกรลาสบูชาด้วยเครื่องทิพย์  พระเวสสุกรรมก็เนรมิตโรงประดับด้วยแก้ว  7  ประการ  ชื่อภควดีให้เป็นที่ประชุมเทวดา  เทวดาทั้งปวงก็เอาเถาฉมูนวดลงมาล้างในสระอโนดาต  7  ครั้ง  แล้วก็แจกกันเสวยทุก ๆ องค์ ครั้นครบ  365  วัน  โลกสมมุติว่าเป็นหนึ่งปีเป็นสงกรานต์  ธิดา  7  องค์  ของเท้ากบิลพรหมก็ผลัดเวรกันมาเชิญพระเศียรของพระบิดาออกแห่ประทักษิณรอบเขาพระสุเมรุทุกปีแล้วจึงกลับไปเทวโลก

กิจกรรมวันสงกรานต์

การทำบุญตักบาตร 

    นับว่าเป็นการสร้างบุญสร้างกุศลให้กับตนเอง อีกทั้งยังเป็นการอุทิศส่วนกุศลนั้นให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว การทำบุญในลักษณะนี้มักจะมีการเตรียมไว้ล่วงหน้า เมื่อถึงเวลาทำบุญก็จะนำอาหารไปตักบาตรถวายพระภิกษุที่ศาลาวัดโดยจัดเป็นที่รวมสำหรับการทำบุญ ในวันเดียวกันนี้หลังจากที่ได้ทำบุญเสร็จเรียบร้อย ก็จะมีการก่อเจดีย์ทรายอันเป็นประเพณีที่สำคัญในวันสงกรานต์อีกด้วย

การรดน้ำ 

    นับได้ว่าเป็นการอวยพรปีใหม่ให้แก่กันและกัน น้ำที่นำมาใช้รดหัวในการนี้มักเป็นน้ำหอมเจือด้วยน้ำธรรมดา

การสรงน้ำพระ 

    เป็นการรดน้ำพระพุทธรูปที่บ้านและที่วัด ซึ่งในบางที่ก็จะมีการจัดให้สรงน้ำพระสงฆ์เพิ่มเติมด้วย

การบังสุกุลอัฐิ 

    สำหรับเถ้ากระดูกของญาติผู้ใหญ่ที่ได้ล่วงลับไปแล้ว มักทำที่เก็บเป็นลักษณะของเจดีย์ จากนั้นจะนิมนต์พระไปบังสุกุล

การรดน้ำผู้ใหญ่

    คือการที่เราไปอวยพรผู้ใหญ่ใที่ห้ความเคารพนับถือ อย่าง ครูบาอาจารย์ มักจะนั่งลงกับที่ จากนั้นผู้ที่รดก็จะเอาน้ำหอมเจือกับน้ำธรรมดารดลงไปที่มือ ผู้หลักผู้ใหญ่ก็จะให้ศีลให้พรผู้ที่ไปรด หากเป็นพระก็อาจนำเอาผ้าสบงไปถวายเพื่อให้ผลัดเปลี่ยนด้วย แต่หากเป็นฆราวาสก็จะหาผ้าถุง หรือผ้าขาวม้าไปให้เปลี่ยน มีความหมายกับการเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ ในวันปีใหม่ไทย

การดำหัว

    มีจุดประสงค์คล้ายกับการรดน้ำของทางภาคกลาง ส่วนใหญ่จะพบเห็นการดำหัวได้ทางภาคเหนือ การดำหัวทำเพื่อแสดงความเคารพต่อผู้ที่อาวุโสว่า ไม่ว่าเป็น พระ ผู้สูงอายุ ซึ่งจะมีการขอขมาในสิ่งที่ได้ล่วงเกิน หรือเป็นการขอพรปีใหม่จากผู้ใหญ่ ของที่ใช้ในการดำหัวหลักๆ ประกอบด้วย อาภรณ์ มะพร้าว กล้วย ส้มป่อย เทียน และดอกไม้

การปล่อยนกปล่อยปลา 

    ถือว่าการล้างบาปที่เราได้ทำไว้ เป็นการสะเดาะเคราะห์ร้ายให้กลายเป็นดี มีแต่ความสุข ความสบายในวันขึ้นปีใหม่

การขนททรายเข้าวัด 

    ในทางภาคเหนือนิยมขนทรายเข้าวัดเพื่อเป็นนิมิตโชคลาคให้พบแต่ความสุข ความเจริญ เงินทองไหลมาเทมาดุจทรายที่ขนเข้าวัด แต่ก็มีบางพื้นที่มีความเชื่อว่า การนำทรายที่ติดเท้าออกจากวัดเป็นบาป จึงต้องขนทรายเข้าวัดเพื่อไม่ให้เกิดบาป



อ้างอิง 




ความคิดเห็น